เล่ามาจากภาคสนาม : ช้างด่านลอย
“ช้างมันเรียนรู้เป็น มันเลยเลียนแบบรุ่นพี่ที่ทำให้มันเห็น”
เป็นคำพูดของพี่เจิ้ง
หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน
เมื่อครั้งที่ผมเดินทางไปเฝ้าติดตามอาการลูกช้างบาดเจ็บที่นั่น
มันเป็นประโยคที่ทำให้ผมสนใจใคร่รู้โดยส่วนตัวว่า กระบวนการคิดและเรียนรู้มันเป็นอย่างไร
จะเป็นเหมือนคนอย่างเราหรือเปล่า
หนึ่งสัปดาห์ต่อมาผมจึงเอาเรื่องนี้ไปพูดคุยกับพี่เช็ค
สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ในฐานะเจ้านายของผมที่ทีวีบูรพา เพื่อจะขออนุญาตติดตามศึกษาเรื่องนี้ต่อพร้อมกับถ่ายทำเป็นภาพยนตร์สารคดีไปด้วย
และในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ผมจึงได้เดินทางกลับไปที่นั่นอีกครั้ง
เพื่อไขปริศนาพฤติกรรมเลียนแบบของบรรดา “ช้างด่านลอย” บนถนนหมายเลข 3259 ช่วงที่ตัดผ่านป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน
“ตอนแรกมันก็มีแต่เจ้าด้วนนะ
ที่ออกมาตั้งด่านลอย จนเขาเรียกมันว่า ด้วน ด่านลอย
เพราะพฤติกรรมที่ชอบโบกรถบรรทุกอ้อยให้จอด เพื่อที่มันจะได้ดึงอ้อยบนรถลงมากิน”
พี่อำนวย เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของเขตฯ เล่าให้ผมฟังถึงเรื่องของเจ้าด้วน
ด่านลอย ที่เป็นที่รู้จักในสังคมทั่วไป เพราะก่อนหน้านั้นเจ้าด้วนปรากฏอยู่บนสื่อทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์แทบจะต่อเนื่องปานข่าวดาราคนดัง
“สอง-สามปีมานี้
ไม่ใช่จะมีแค่เจ้าด้วนแล้วนะซี” หัวหน้าเขตเริ่มเรื่อง ผมมองหน้าเขาอย่างสนใจ
“มันมีช้างอีก สี่-ห้าตัวที่ออกมาทำแบบเดียวกันกับเจ้าด้วน เห็นเจ้าหน้าที่บอกว่า
มันมีพี่จ่ายาว มีด้วนสอง มีด้วนสาม มีอ้วนเตี้ย ตัวนี้มีขนหางเป็นพลวง
และก็มีเจ้าแหลม เป็นช้างพรายที่มีงา”
“ที่เห็นมากับตาเลยก็พี่จ่ายาว
สอนเจ้าด้วนหมายเลขสองนะ” พี่อำนวยเสริมขึ้น
“ตอนแรกเจ้าด้วนสองก็ไม่กล้าจะออกมาหรอก เห็นมันผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ในแนวต้นไม้ข้างถนนนั่นแหละ
แต่พอพี่จ่ายาวทำให้มันดู มันก็ออกมาเลย แต่ก็ยังเก้ๆ กังๆ อยู่
แต่เมื่อมันทำได้เท่านั้นแหละ ก็อย่างที่เห็น
นี่ก็เกือบสามปีแล้วที่เจ้าด้วนสองมันสนุกกับการตั้งด่านลอยบนถนน”
หากผมไม่ได้คิดไปเอง
เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะใช่เหตุบังเอิญแต่ประการใด ที่ช้างป่าจะเรียนรู้และหาทางเอาตัวรอดจากปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างที่พวกมันกำลังเผชิญอยู่
ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าที่ลดลง แหล่งน้ำแหล่งอาหารในป่าที่ขาดแคลน
จึงทำให้พวกมันกล้าที่จะปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น
เช่นเดียวกันกับที่ช้างป่าจำนวนมากไม่ได้อยู่ในป่าเหมือนในอดีต
เพราะการรุกคืบของพื้นที่เกษตรกรรม การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การเพิ่มถนนหนทาง
หรือแม้แต่การขยายตัวของชุมชนและเมือง ก็บีบครั้นจนทำให้พวกมันไม่สามารถจะถอยหนีไปทางไหนได้
ทางเดียวที่เผ่าพันธุ์ของพวกมันจะคงอยู่ต่อไปได้ คือหันหน้าทวงคืนพื้นที่ที่มันเคยอยู่อาศัยมาก่อน
และแน่นอนปัญหาความบาดหมางระหว่างคนกับช้างป่าก็จะตามมา
ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน
มีถนนตัดผ่านผืนป่าอนุรักษ์ เป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างจังหวัด เป็นเส้นทางลำเลียงผลผลิตทางการเกษตรเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
โดยเฉพาะอ้อยที่เดินทางจากจังหวัดสระแก้วไปเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำตาลที่โรงงานในจังหวัดชลบุรีประมาณ
1 ล้านตันต่อปี ซึ่งใช้ถนนสายนี้ขนส่งมันไป นอกจากนั้นมันสำปะหลัง และพืชผลอื่นๆ
อีกก็ใช่ว่าจะน้อยๆ เพราะสิ่งที่ว่ามามันคืออาหารอันโอชาของช้างป่า
หากเมื่อมันได้ลองลิ้มรส เมื่อนั้นก็ไม่อาจจะหลบหลีกไปไหนได้
“มาพักหลังๆ รถเล็กๆ มันก็ตรวจนะ เจออะไรมันก็เอา
ข้าวสาร ขนมเด็ก อะไรก็ตามที่มันคิดว่ามันจะกินได้มันเอาหมด”
นักประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ถึงแม้ช้างห้า-หกตัวไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตที่ว่ามากเท่าไรนัก
แต่อีกด้านหนึ่งความแปลกประหลาดที่ช้างป่ากำลังเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดอย่างนี้
ก็ไม่ใช่เรื่องดีเอาเสียเลย
ความเสี่ยงกลับไปตกอยู่กับคนใช้รถใช้ถนนรายอื่นๆ
ที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อช้างป่าพวกนี้มันเข้ามาใกล้หรือเบียดเสียดกับตัวรถ
บ้างก็กล้าๆ กลัวๆ ขยับเข้าขยับออก
จนบ่อยครั้งที่ทำให้ช้างป่าบนถนนรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ เล่นงานรถยนต์
มอเตอร์ไซค์ไปก็หลายต่อหลายคัน
เพราะนี่คือเอ็ฟเฟ็คจากการพัฒนาที่ไม่ได้คำนึงผลในระยะยาว ซึ่งยังไม่นับรวมถึงตัวช้างป่าที่ถูกรถชนด้วยนะ
มันคงจะเจ็บปวดหน้าดู
ช้างด่านลอย บนถนนหลวงแผ่นดินหมายเลข 3259 เส้นทางระหว่าง
จังหวัดฉะเชิงเทรา-อำเภอวังน้ำเย็น นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจจะเพิกเฉยได้
เพราะสิ่งที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การให้อาหารสัตว์ป่าตามท้องถนนของบรรดาผู้ที่มีจิตใจเมตตาต่อสัตว์
แต่ใครจะนึกบ้างละว่าอาหารที่นำไปโยนไว้บนถนนคือปัจจัยที่จะทำให้สัตว์ป่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากธรรมชาติที่พวกมันเคยเป็นอยู่
จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมบนท้องถนนที่เป็นข่าวเป็นคราวอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน
“เราก็พยายามประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีความระมัดระวัง
เมื่อขับผ่านผืนป่าแห่งนี้ แต่นั่นก็ยังเป็นปลายเหตุเกินไป
ตอนนี้เราพยายามที่จะดึงสัตว์ป่ากลับเข้าป่า โดยเฉพาะช้างพวกนี้
ด้วยการทำแปลงอาหารและแหล่งน้ำให้พวกมันกลางป่า
แต่คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่ามันจะเป็นผล หรืออาจจะไม่เป็นผลเลย หากบนถนนสายนี้ยังคงมีอาหารที่เย้ายวนกว่า”
พี่เจิ้ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนพูดจบ
ยกมือข้างหนึ่งขึ้นเกาคางเหมือนครุ่นคิด ผมมองลึกเข้าไปในแววตาที่มุ่งมั่นคู่นั้น
สัมผัสได้ถึงความอ่อนล้าประดามีของเขา
อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่รู้ว่าช้างป่ารุ่นใหม่ๆ
จะเรียนรู้และเลียนแบบได้รวดเร็วสักปานใด
ประชากรของพวกมันจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงสักเท่าไร แต่ที่แน่ๆ สาม-สี่ปีมานี้
ช้างด่านลอยบนถนนสายนี้เริ่มจะเดินเบียดเสียดกันเสียแล้ว...
เรื่องโดย ตาล
วรรณกูล / ครีเอทีพสารคดีสัตว์ป่า
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น